เผย 10 อันดับมังงะที่แฟน ๆ อยากให้ทำเป็นอนิเมะมากที่สุดจากงาน AnimeJapan 2023

มีเรื่องไหนที่ติดตามกันอยู่บ้างเอ่ย?

ถือเป็นธรรมเนียมของทุกครั้งที่มีการจัดงาน AnimeJapan ที่ทาง Sony Music Solutions จะจัดผลสำรวจ มังงะที่อยากให้ทำเป็นอนิเมะมากที่สุด และล่าสุดก็มีการเผย 10 อันดับมังงะที่แฟน ๆ อยากให้เป็นอนิเมะประจำปี 2023 แล้ว เราไปดูกันเลยว่ามีเรื่องอะไรบ้าง

อันดับที่ 1 : Hyperinflation ของ อ.Sumiyoshi Kyu

อันดับที่ 2 : Koori no Jyouheki ของ อ.Agasawa Koucha

อันดับที่ 3 : Nitou to Tazuka no Nichijou ของ อ.Satou to Shio

อันดับที่ 4 : Waka-chan wa Kyou mo Azatoi ของ อ.Shimamura

อันดับที่ 5 : Giant Ojou-sama ของ อ.Nikumura Q

อันดับที่ 6 : Dareka Yume da to Itte Kure ของ อ.Michelle

อันดับที่ 7 : Aru Hi, Ohime-sama ni Natteshimatta Ken ni Tsuite ของ อ. Plutus และ Spoon

อันดับที่ 8 : Junket Bank ของ อ.Tanaka Ikkou

อันดับที่ 9 : Tsuiraku JK to Haijin Kyoushi ของ อ.sora

อันดับที่ 10 : Ninja to Gokudou ของ อ. Kondou Shinsuke

Jujutsu Kaisen มหาเวทย์ผนึกมาร ซีซั่น 2 ตอนที่ 2 ดูออนไลน์ได้แล้ว

Jujutsu Kaisen มหาเวทย์ผนึกมาร ซีซั่น 2 ภาคชิบูย่า ซับไทย พากย์ไทย รวมลิงก์ดูออนไลน์ถูกลิขสิทธิ์ ดูได้แล้วทุกตอนทาง TrueID , Netflix และ iQIYI โดยกำหนดฉาย Jujutsu Kaisen มหาเวทย์ผนึกมาร ทุกวันพฤหัส เวลาประมาณ 23.00 น.

โดยในบทความนี้จะมีรวมลิงก์ดูออนไลน์ ซีซั่น 1 ไว้ให้ด้วย เรียกได้ว่า ครบจบทุกภาค ส่วนเนื้อหาของซีซั่น 2 จะเป็นบท “Kaigyoku Gyokusetu” ที่เป็นเรื่องราวย้อนอดีตของอาจารย์ Gojo กับ Geto

ชื่อ: มหาเวทย์ผนึกมาร

ชื่อญี่ปุ่น: 呪術廻戦

โรมาจิ: Jujutsu Kaisen

แนว: ผจญภัย, จินตนิมิตด้านมืด, เหนือธรรมชาติ

เรื่องย่อ Jujutsu Kaisen มหาเวทย์ผนึกมาร ซีซั่น 2 ภาคชิบูย่า

ในวันที่ 31 ตุลาคม บริเวณรอบ ๆ สถานี Shibuya ที่มีการจัดงานวันฮัลโลวีนได้ถูกปิดกะทันหัน ทำให้ผู้คนทั่วไปจำนวนมากติดอยู่ในพื้นที่ ทาง Gojo ได้มุ่งหน้าไปยัง Shibuya ด้วยตัวเขาเอง แต่ความจริงแล้วมันคือกับดักที่พวก Geto วางเอาไว้ พวก Itadori, Fushiguro, Kugizaki และสมาชิกโรงเรียนไสยเวทจึงต้องตามไปสมทบที่นั่น การต่อสู้ขนาดใหญ่ที่ไม่เคยมีมาก่อนกำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว

ลิงก์ดู Jujutsu Kaisen มหาเวทย์ผนึกมาร ซีซั่น 2 ภาคชิบูย่า

Jujutsu Kaisen มหาเวทย์ผนึกมาร ซีซั่น 2 ภาคชิบูย่า

ตอนที่ 1-2 (ยังไม่จบ) โดยจะฉายทุกวันพฤหัสบดี เวลา 22:56

ตัวละครหลัก Jujutsu Kaisen มหาเวทย์ผนึกมาร ซีซั่น 2

Gojo Satoru (CV. Nakamura Yuichi)

Geto Suguru (CV. Sakurai Takahiro)

Ieiri Shoko (CV. Endo Aya)

Amanai Riko

Fushiguro Touji

31 เรื่องที่ไม่รู้ก็ไม่เป็นไรของ Suzume no Tojimari การผนึกประตูของซุซุเมะ

สำหรับตัวผู้เขียนบทความนี้เอง ก็เป็นงานที่ชอบกว่าสองเรื่องก่อนหน้า

ก่อนอื่น บทความนี้มีเนื้อหาและรูปภาพที่อาจเปิดเผยเนื้อหาหลายส่วน (สปอยล์) ของภาพยนตร์ Suzume no Tojimari (Suzume) – การผนึกประตูของซุซุเมะ หากเพื่อน ๆ อ่านมาถึงตรงนี้แล้วยังไม่ได้ดูภาพยนตร์ หรือยังไม่อ่านนิยาย มังงะ กรุณาไปชม/อ่านมาก่อน ฉายแล้วในโรงภาพยนตร์ที่ร่วมรายการ/วางแผงแล้วโดยสำนักพิมพ์ผู้ถือลิขสิทธิ์

แต่หากเพื่อน ๆ คนไหนไม่ซีเรียส หรือได้ดูมาแล้ว หรือเป็นนักบริโภคสปอยล์ ก็ขอแนะนำว่าบทความนี้เมื่อได้อ่านแล้ว นำไปประกอบการตามเก็บรายละเอียดในตัวภาพยนตร์ หรือดูแล้วก็ต่อรอบสอง รอบสาม แล้วสังเกตมุมใหม่ ๆ เพิ่มเติมอีก ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราจะสามารถสนุกไปกับตัวภาพยนตร์ได้ จะมีประเด็นไหนที่น่าสนใจกันบ้าง ไปดูกัน

1. กว่าจะเป็น “การผนึกประตูของซุซุเมะ” และที่มาของชื่อเรื่อง

เรื่องราวการผจญภัยของซุซุเมะ สาวน้อยตัวเอกผู้เร่งรีบเดินทางไปปิดประตูในสถานที่ต่าง ๆ นั่นสามารถสรุปได้ด้วยชื่อเรื่องว่า “การผนึก(ปิด)ประตูของซุซุเมะ” ในการตั้งชื่อเรื่องว่า “Suzume no Tojimari” นั้นอาจมองได้ว่ามีที่มาอยู่ 2 อย่างดังนี้

1.1 เป็นการตั้งชื่อโดยล้อสุภาษิตญี่ปุ่น

คำว่า “ซุซุเมะ” หรือนกกระจอก 「雀」 นั้นทำให้นึกถึงสุภาษิตญี่ปุ่นที่ว่า 「雀の涙」 (suzume no namida – น้ำตานกกระจอก) ที่สื่อความหมายถึงสิ่งเล็กน้อยด้อยค่า หรือจะเป็นอีกสุภาษิตหนึ่ง 「雀の糠喜び」 (suzume no nuka yorokobi – นกกระจอกดีใจเมื่อเห็นรำ) หมายถึงการที่มีเรื่องร้ายเกิดขึ้นทันทีหลังจากดีใจว่าได้พบกับเรื่องดี ๆ เหมือนนกกระจอกที่ดีใจว่าได้เจอเมล็ดข้าวแล้ว แต่แท้จริงสิ่งที่เห็นคือรำ กินไม่ได้ เป็นต้น การตั้งชื่อตรงนี้ก็หยิบเอาจุดที่เป็น “suzume no…” มาตั้งล้อเลียนให้อยู่ในลักษณะคล้ายกัน

1.2 เป็นการเล่นคำระหว่างคำว่า “ซุซุเมะ” และ “ชิซุเมะ”

เชื่อว่าป่านนี้ทุกคนคงทราบกันแล้วว่าตัวเรื่อง “การผนึกประตูของซุซุเมะ” มีธีมเป็นการไว้อาลัยให้กับผู้ที่เสียไปจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวหลายต่อหลายครั้งในญี่ปุ่น ซึ่งคำว่า “鎮め (ชิซุเมะ)” นั้นหมายถึงการสงบนิ่ง เมื่อรวมกับบริบทจึงกลายเป็นการสงบนิ่งเพื่อไว้อาลัย

อนึ่ง ทฤษฎีในข้อ 1.2 นี้เมื่อถูกนำไปเป็นคำถามในการสัมภาษณ์ตัวผู้กำกับ ก็ได้คำตอบมาว่าเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจดีเหมือนกัน

จบส่วนการเดาเรื่องชื่อไปแล้ว มาดูอะไรที่มันเป็นข้อเท็จจริงกันบ้าง

ในขั้นตอนการวางแผน ผกก. ได้กำหนดโครงเรื่องไว้ดังนี้

1. เรื่องราวการไว้อาลัยให้กับสถานที่

2. เรื่องราวการเดินทางของสาวน้อยกับสิ่งที่เปลี่ยนรูปร่างไป

3. เรื่องราวของการไปแล้วกลับมา

และที่สำคัญคือข้อ 2 ที่หนึ่งในฉบับร่างมีการกำหนดไว้ว่าให้ตัวเอกหญิงเดินทางไปพร้อมกับตัวเอกชายที่ค่อย ๆ เปลี่ยนสภาพไปทีละส่วน ๆ แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนมาเป็นถูกจับสิงร่างไว้ในเก้าอี้ตามที่เราได้เห็นกัน (จากสัมภาษณ์ในรอบฉายที่ไทย)

2. เพราะอะไรถึงต้องเป็นประตู

เพราะประตูเป็นสิ่งที่เราพบเจอได้ง่ายที่สุดในชีวิตประจำวัน จะออกจะเข้าบ้านก็ต้องเปิดปิดประตู และสิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นจนเป็นภาพจำ คือคำพูดคำทักทายที่มาพร้อมกับการเปิดประตูทุกครั้ง เช่น “ไปก่อนนะ” “ไปดีมาดีนะ” “กลับมาแล้ว” “กลับมาแล้วเหรอ” หรือในอีกมุมหนึ่งก็เรื่องปกติในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่นไปแล้ว แบบใกล้ตัวสุด ๆ

นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องของ “สิ่งที่ปิดกั้นทางผ่าน” อย่างที่เราได้เห็นกันว่าประตูบางแห่งในเรื่องก็กลายเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับแดนสุขาวดี และยังเป็นทางผ่านให้มิมิซุใช้ออกมายังโลกมนุษย์ด้วย

3. อีกครั้งกับการนำเอาคติชนวิทยามาสร้างเป็นผลงานฮิต ของ ผกก. ชินไค

ภายในเรื่องเราจะพบเห็นตำนานเทพ เรื่องเล่า ความเชื่อของญี่ปุ่นถูกนำมาดัดแปลงและใช้ประกอบภายในเรื่อง อย่างเช่นเรื่องของไส้เดือน/หนอนยักษ์มิมิซุ ที่ตัวผู้กำกับเฉลยว่ามีที่มาจากตำนานปลาดุกนามาซุที่อยู่ใต้ดิน เมื่อปลาดุกยักษ์ตัวนี้พลิกตัว ก็จะเกิดเหตุแผ่นดินไหว เรื่องราวของศิลาผนึกที่เชื่อกันว่าเป็นการทำเพื่อบรรเทาความโกรธของเทพผู้ปกครองแผ่นดิน มาอยู่ในรูปแบบของไดจิน/สะไดจิน เป็นต้น

หรือแม้แต่ตัวเอกที่มีนามสกุลว่าอิวาโตะ ก็อาจมีที่มาจากตำนาน “อามะโนะอิวาโตะ” ถ้ำในเทพปกรณัมของญี่ปุ่น ที่เทพีอามาเทราสึ (เทพีแห่งดวงอาทิตย์) หนีความวุ่นวายจากที่เทพซูซาโนโอะน้องชายก่อเรื่อง จึงเข้าไปซ่อนตัวจนทำให้แผ่นดินตกอยู่ในความมืดมิด และยังเป็นตำนานของจังหวัดมิยาซากิ สถานที่ที่ปรากฎอยู่ในเรื่องและเป็นที่ตั้งของบ้านตัวเอกด้วย

มาทางฝั่งนามสกุลพระเอกอย่าง “มุนาคาตะ” ซึ่งมีที่มาจากตำนานสามเทพีมุนาคาตะแห่งท้องทะเล ที่เกิดจากเศษซากของดาบทตสึกะ (十束剣) ของเทพซูซาโนโอะ ที่ให้ไว้กับเทพีอามาเทราสึ ก่อนจะลาจากกัน

4. ไดจิน และสะไดจิน ตัวตนที่เหมือนกับหยินและหยาง

ว่าด้วยเรื่อง 2 เทพในรูปร่างแมวที่โผล่มาสร้างปมของเรื่อง และติดสอยห้อยตามซุซุเมะไปจนถึงไคลแมกซ์ เหตุผลที่เป็นแมว นอกจากที่ตัว ผกก. เป็นทาสแมวแล้ว ยังมีจุดที่น่าสนใจว่าเพราะแมวนั้นคาดเดาไม่ได้ เหมือนความเอาแต่ใจของเทพเจ้า แต่ก็ต้องการความรักจากผู้คนอยู่นะ

ส่วนประเด็นความตรงกันข้ามนั้น ผกก. เคยให้คำตอบไว้ในบทสัมภาษณ์ว่าทั้งไดจินและสะไดจินนั้นเป็นเหมือนเทพซ้ายเทพขวา โดยไดจิน หรือ อุไดจิน (ไดจินขวา) ก็จะมี “สะ”ไดจิน (ไดจินซ้าย) เนื้อตัวที่สลับสีกันเมื่อใช้พลังแฝงที่มีอยู่ แต่จุดที่ไดจินไปไหนมาไหนมีแต่คนรัก ชักนำความรุ่งเรืองมาสู่กิจการที่มันเดินผ่านจนเป็นเหมือนกับแมวกวัก ก็ไม่รู้ว่าถ้าเป็นกรณีของสะไดจินแล้วจะมีผลตรงกันข้ามหรือเปล่านะ?

ซึ่งการใส่อะไรที่เป็นเหมือนขั้วตรงข้ามกันนี้เราก็ได้เห็นกันมาแล้วในผลงานก่อน ๆ ของ ผกก.ชินไค อย่างคู่ตำรวจทาคาอิ/ยาสุอิ ในฤดูฝันฯ เป็นต้น

5. เหตุใดเก้าอี้จึงมีสามขา และมีความหมายอย่างไร

แม้ซุซุเมะเองจะไม่ทราบสาเหตุ แต่เก้าอี้ตัวดังกล่าวเสียขาไปข้างหนึ่งเมื่อครั้งเหตุการณ์สึนามิ เป็นตัวแทนของบาดแผลที่เกิดขึ้นหลังประสบภัยพิบัติ รวมถึงบาดแผลในหัวใจของซุซุเมะจากการเสียคุณแม่ไปในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยเช่นกัน กระนั้นแม้เหลือขาแค่สามข้าง ก็ยังคงทำหน้าที่ในฐานะเก้าอี้ได้ ตั้งตรงให้นั่งได้ วิ่งสามขาได้ (ด้วยแรงฮึดของโซตะ) การเหลือแค่สามขาไม่ได้ทำให้แตกต่างไปจากเมื่อมีสภาพสมบูรณ์ขาครบสี่ข้าง

หรือแม้แต่ในฉากที่ซุซุเมะ (เด็ก) ตัดพ้อว่าเก้าอี้เหลือแค่สามขานั่งไม่ได้หรอก แต่ซุซุเมะ (โต) ก็ตอบกลับว่าต่อให้เหลือสามขาก็ยังตั้งได้ ซึ่งเป็นจุดที่ ผกก. ต้องการสื่อว่าต่อให้เจออะไรต่อมิอะไรมาจนชีวิตมีบาดแผล แต่ต้องลุกขึ้นให้ได้ เหมือนกับที่ซุซุเมะในอนาคตให้กำลังใจซุซุเมะในอดีต (จากบทสัมภาษณ์ระหว่าง ผกก. กับคุณ Matsumura Hokuto ผู้ให้เสียงโซตะ)

6. แม้เรื่องราวทั้งหมดในเรื่องจะใช้เวลาเพียงแค่ 5 วันเท่านั้น แต่ตัว ผกก. อยากให้รู้สึกว่าเป็นการเดินทางที่ยาวนาน

– เดิมที ผกก. ได้เขียนสคริปต์ออกมาโดยไม่ได้นึกถึงวันเวลาภายในเรื่องด้วยซ้ำ แต่พอมาย้อนนับดูถึงได้รู้ว่าทั้งหมดเกิดขึ้นใน 5 วัน แม้แต่ตอนเขียนเป็นฉบับนิยายก็ไม่ได้ใส่ใจเรื่องจำนวนวัน เพราะคิดแต่ว่าจะให้ออกมาเป็นเรื่องสั้น แต่ถึงแบบนั้น ก็เป็นช่วงเวลา 5 วันของซุซุเมะที่ผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ มามากมาย จนกลายเป็น 5 วันที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเธอไป

นับเวลาตั้งแต่ตอนที่โซตะกลายเป็นเสาหลักไปแล้ว ซุซุเมะร่วงลงมาจากฟ้า ตื่นขึ้นมาปิดประตูแล้วขึ้นมาจากใต้ดินในรุ่งสาง อาบน้ำแต่งตัว ตัดสินใจไปช่วยโซตะที่โทโฮคุ รวมแล้วเป็นเวลา 12 ชั่วโมงถ้วน ทั้งที่การดำเนินเนื้อเรื่องส่วนนี้ควรใช้เวลาไม่นาน แต่ตัว ผกก. ก็รู้สึกเหมือนโซตะได้จากซุซุเมะไปแล้วหลายวัน สัมผัสได้ว่าทั้งคู่ต่างมีความรู้สึกให้กันเหมือนคนที่ไม่ได้พบหน้ากันมานาน ไม่ใช่เพิ่งจากกันไปแป๊บเดียว ซึ่งความลึกซึ้งในความสัมพันธ์ของทั้งสองคนจะถูกนำเสนอออกมาในส่วนนี้ของเนื้อเรื่องอย่างชัดเจน

และเนื่องจากเหตุการณ์ในเรื่องเกิดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน เป็นช่วงที่เพิ่งพ้นกลางฤดูร้อนและเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง สื่อให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลที่เดินไปอย่างช้า ๆ (จากบทสัมภาษณ์ระหว่าง ผกก. กับคุณ Matsumura Hokuto ผู้ให้เสียงโซตะ)

7. อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ กับเรื่องของดวงจันทร์

อย่างที่ทราบกันว่าเรื่องราวภายในเรื่องเป็นช่วงระหว่างวันที่ 24 – 29 กันยายน 2023 โดยวันสุดท้ายคือวันที่ 29 กันยายน ที่ซุซุเมะไปถึงบ้านเกิดพร้อมไดจิน สะไดจิน และน้าทามากิ มีฉากหลังเป็นพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งถ้าเราลองไปดูปฏิทินดวงจันทร์ของปี 2023 ในวันที่ 29 กันยายน ก็จะเป็นวันพระจันทร์เต็มดวงพอดีเหมือนกัน

ไม่ใช่แค่ฉากนี้ฉากเดียว ในฉบับนิยายยังเล่าว่าตอนที่ซุซุเมะยังเป็นเด็ก หลังประสบเหตุวันที่ 11 เดือนมีนาคม เธอก็เที่ยวตามหาแม่อยู่เต็ม ๆ 10 วัน ก่อนจะหลงเข้าประตูสู่แดนสุขาวดีในคืนวันที่ 20 มีนาคม ในฉากนั้นก็บรรยายไว้ว่าเป็นคืนพระจันทร์เต็มดวง พอดูปฏิทินก็เป็นวันพระจันทร์เต็มดวงเหมือนกัน

8. ความเกี่ยวข้องระหว่างวันวสันตวิษุวัต และวันศารทวิษุวัต ที่มีในเรื่องนี้

ซุซุเมะ (เด็ก) หลงเข้าประตูสุขาวดีครั้งแรกตอนวันที่ 20 มีนาคม วันวสันตวิษุวัต (春分の日)

ซุซุเมะ (โต) หลงตามคุณสุดหล่อไปตอนวันที่ 25 กันยายน อยู่ในช่วงวันศารทวิษุวัต (秋分の日)

9. ในฉบับนิยาย ส่วนที่เปิดเผยเนื้อหาว่าเกี่ยวข้องกับเดือนมีนาคม อยู่ในหน้าที่ 311 พอดีเป๊ะ

จะเรียกว่าบังเอิญหรือจงใจดีนะ เพราะในนิยายฉบับภาษาญี่ปุ่น ส่วนที่เปิดเผยเนื้อหาว่าช่วงเวลาที่ซุซุเมะเด็กอยู่นั้นในเดือนมีนาคม (10 วันหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิวันที่ 11 เดือน 3) อยู่ในหน้าที่ 311 พอดี (ส่วนฉบับภาษาไทย อยู่ในหน้าที่ 289)

10. เมนูอุด้งผัดใส่สลัดมันฝรั่ง เกิดจากความอยากกินอะไรตอนดึก ๆ ของตัว ผกก. เอง

ในฉากที่สามสาว (รุมิ, มิกิ และซุซุเมะ) พักผ่อนจากการทำงานร้านสแน็คบาร์ (และการปิดประตู) เป็นฉากออกโรงของเมนูอุด้งผัด ส่วนท็อปปิ้งสลัดมันฝรั่งเกิดจากซุซุเมะที่เปิดหาไอเดียท็อปปิ้งในเน็ต แต่ถึงจะเขียนอออกมาว่าอร่อยเพียงไหน ตัว ผกก. เองก็ยังไม่เคยลองทำดูสักครั้ง

นี่ไม่ใช่เมนูแรกที่เกิดจากความอยากลองกินของตัว ผกก. เพราะข้าวผัดโรยมันฝรั่งทอด กับแซนด์วิชโครอกเกะกับไข่ ใน 2 ผลงานก่อนหน้า ก็มีที่มาเดียวกัน (จากบทสัมภาษณ์ระหว่าง ผกก. กับคุณ Hara Nanoka ผู้ให้เสียงซุซุเมะ)

11. ทวิตอวดไดจินของชาวเน็ตที่ปรากฏในเรื่อง ส่วนหนึ่งเป็นของจริง

ทวิตเตอร์ที่ปรากฏในเรื่องเพื่ออัปเดตข่าวคราวการปรากฎตัวของไดจินในสถานที่ต่าง ๆ นั้นมีอยู่จริง คือบัญชีทวิตเตอร์ @mikans_daizinn, @takeo_densyagu1 และ @manobatt_haniwa ซึ่งส่วนใหญ่ (หรือทั้งหมด?) อาจเป็นบัญชีของทีมงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อโปรโมทเรื่องนี้โดยเฉพาะก็เป็นได้ ส่วนโดยทวิตเตอร์ของจริงจะโพสในช่วงก่อนภาพยนตร์ฉายเท่านั้น

ซึ่งทาง official เองก็เคยมีแคมเปญให้ผู้ชมได้ร่วมสนุก โดยจับเจ้าไดจินมาทำให้อยู่ในรูปแบบ AR ให้ผู้ชมไปถ่ายรูปตามสถานที่ต่าง ๆ แล้วติดแฮชแท็กว่า #ダイジンといっしょ (อยู่กับไดจิน) ลุ้นรับของรางวัลเป็นสติ๊กเกอร์ไดจิน และหมอน (หมดเขตไปแล้วเมื่อสิ้นปีก่อน)

ไหน ๆ เขียนถึงแล้วก็ขอแซวเสียหน่อย ในทวิตของ @mikans_daizinn อวดไว้ว่าวิวมุมในภาพที่เจอไดจิน ห่างจากสถานีรถไฟซาคิงาวะแค่ 15 นาที แต่เอาเข้าจริง ห่างไป 30 กิโลเลยนะ

12. การกลับมารับบทบาทอย่างต่อเนื่องของนักพากย์ขาประจำผลงาน

คุณ Hanazawa Kana นับตั้งแต่บททคุณครูใน Kotonoha no Niwa, Kimi no Na wa. และบทเพื่อนสาวของนากิใน Tenki no Ko คราวนี้คะน้ากลับมาในบท Iwato Tsubame คุณแม่ของซุซุเมะ และพี่สาวของทามากินี่เอง

ส่วนอีกรายก็คุณ Kamiki Ryuunosuke ที่รับบททาคิคุงมา 2 เรื่อง คราวนี้ก็มารับบทเซริซาวะ

13. สายคล้องข้อมือของเซริซาวะ และทาคิคุง

เนื่องจากทั้งสองตัวละครให้เสียงโดยคุณคามิกิเหมือนกัน เลยมีสายคล้องข้อมือให้เห็น ถือเป็นกิมมิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างตัวเซริซาวะกับทาคิคุง

14. สถานที่ภายในเรื่องเทียบกับสถานที่จริง

– เมืองโทนามิ (門波町) ที่พวกซุซุเมะอาศัยอยู่ เป็นเมืองสมมติ มีบางส่วนถูกอ้างอิงจากเมืองนิจินัน จังหวะมิยาซากิ

– เรือมิคังชิโกกุ (みかん四国) ดัดแปลงมาจากเรือออเรนจิชิโกกุ (おれんじ四国)

– ทางลาดที่พบกับโซตะครั้งแแรก ก็อยู่ใกล้ ๆ กับท่าเรืออะบุระสึ (油津港) เมืองมิยาซากิ อิงจากโจทย์ว่าเป็นทางลาดในมิยาซากิที่มองเห็นท่าเรือ

– ทางข้ามรางรถไฟนากิโอกะ (凪岡踏切) อิงมาจากทางข้ามรถไฟกิอง (祇園踏切) เมืองคิซาราซุ จังหวัดจิบะ

– โทนามิรีสอร์ท (門波門波リゾート) หรือ โรงแรมโทนามิการ์เด้น (門波ガーデンホテル)

เกิดจากการรวมสถานที่หลายแห่งเข้าด้วยกัน เช่นสะพานหินบ่อน้ำพุร้อนยูโนะสึรุ (湯の鶴温泉) จังหวัดคุมาโมโตะ, มุมภาพรวมของรีสอร์ทมาจากออนเซ็นอามากาเซะ (天ヶ瀬温泉) จังหวัดโออิตะ และทางลาดพื้นหินในรีสอร์ท มาจากออนเซ็นยุโนะฮิระ (湯平温泉) จังหวะโออิตะ

ซึ่งยังมีสถานที่อีกหลายแห่งที่ถูกหยิบมาอ้างอิงในเรื่องนี้ และกำลังเป็นที่นิยมเพราะแฟน ๆ ไปตามรอยกันอยู่ด้วย!

15. สำเนียงที่พวกตัวละครจากจังหวัดมิยาซากิในเรื่องพูดกัน เป็นสำเนียงของมิยาซากิตอนเหนือ

ถึงจะฟังดูแปลก ๆ แต่สำเนียงมิยาซากิที่พวกซุซุเมะพูดกัน ไม่สอดคล้องกับเซ็ตติ้งที่ใช้เมืองนิจินันที่อยู่ทางใต้เป็นต้นแบบ แต่ก็นะ เมืองโทนามิมันเมืองสมมติอยู่แล้ว ไม่เห็นเป็นไรนี่

16. เหตุผลที่สะไดจินสิงร่างคุณน้าทามากิ ก็เพื่อพูดความจริงให้ซุซุเมะก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้

เท้าความก่อนว่าบทบาทของไดจินและสะไดจินคือศิลาผนึกที่จะยับยั้งการเกิดแผ่นดินไหวได้ และทั้งคู่ต้องทำด้วยกัน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหลุดออกมา อีกฝ่ายจะต้านพลังของเทพแห่งผืนปฏพีที่มีชื่อเรียกว่า “อุบุสุนะ” ไม่ไหว ซึ่งในเรื่องนี้ก็แสดงออกมาให้เห็นในลักษณะของ “หนอน/ไส้เดือน” ตามแนวคิดของ ผกก. ที่อ้างอิงจากสิ่งมีชีวิตที่อยู่ใต้ดิน เมื่อศิลาผนึกเหลือออยู่ข้างเดียว มันจึงคืนร่างเดิมแล้วออกตามหาศิลาอีกข้างหนึ่ง จนมาพบกับพวกซุซุเมะ และเข้าสิงร่างน้าทามากิสั่งให้พูดว่า “จงนำคืนกลับไปด้วยฝีมือมนุษย์”

เข้าประเด็น ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างซุซุเมะกับคุณน้าทามากิที่แม้ดูแลกันเหมือนแม่ลูก แต่ก็ไม่ใช่แม่ลูกกันจริง ๆ ตลอดเวลาที่คุณน้าดูแลซุซุเมะจึงต้องแลกมาด้วยโอกาสหลายอย่างในชีวิตของเธอ แม้จะเจ็บปวดแต่ก็ปริปากพูดไม่ได้เพราะอีกฝ่ายเป็นหลานที่ไม่เหลือใครแล้ว จึงต้องปรับตัวให้อยู่ด้วยกันได้อย่างมีรอยยิ้ม อย่างมีความเป็นห่วงเป็นใยแม้จะมีความขุ่นข้องหมองใจอยู่ก็ตาม และเมื่อมาถึงฉากที่คุณน้าไล่ตามซุซุเมะเพื่อพากลับบ้าน สะไดจินจึงอาศัยความมืดในใจของคุณน้า เข้าสิงร่างและพูดเรื่องด้านลบที่ซุกซ่อนอยู่ในใจออกมา เพื่อให้ซุซุเมะสามารถตัดใจแล้วเดินทางพาไดจินและสะไดจินไปผนึกเทพเอาไว้เหมือนเดิม ซึ่งผลตอบรับก็เป็นไปตามแผนเมื่อซุซุเมะเปิดใจคุยกับน้าเพื่อเยียวยาใจกันและกัน ผลจึงทำให้ซุซุเมะสามารถเผชิญหน้ากับปัญหาของมนุษยชาติที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมได้ (จากบทสัมภาษณ์ระหว่าง ผกก. กับคุณ Hara Nanoka ผู้ให้เสียงซุซุเมะ)

17. คุณพ่อของโซตะ ไม่ได้เป็นผู้ผนึกประตู

ในเรื่องเราพบว่าผู้ผนึกประตูมีอยู่ 2 คน คือโซตะและคุณปู่ กล่าวคือการเป็นผู้ผนึกประตูของโซตะนั้นเป็นสิ่งที่เจ้าตัวรับสืบทอดมาจากคุณปู่ เพราะคุณปู่เห็นว่ามีพรสวรรค์ ชีวิตในวัยเด็กของโซตะจึงเติบโตมาโดยมีคุณปู่เป็นผู้ชุบเลี้ยงดูแล ต่างกันกับรุ่นพ่อของโซตะที่ไม่ได้มาในเส้นทางเดียวกัน หากแต่เป็นครูในโรงเรียนปกติ นี่เองจึงเป็นที่มาของแรงบันดาลใจที่ทำให้โซตะอยากเป็นครู โดยมีงานผู้ผนึกประตูเป็นงานอดิเรกที่ต้องทำ (จากบทสัมภาษณ์ระหว่าง ผกก. กับคุณ Hara Nanoka ผู้ให้เสียงซุซุเมะ)

18. ฉะนั้น ผู้ผนึกประตูรุ่นก่อนคือคุณปู่นั่นเอง

จึงอธิบายได้ว่าทำไมคุณปู่ถึงรู้จักกับสะไดจิน และฝากฝังให้สะไดจินช่วยดูแลพวกซุซุเมะไปจนกว่าจะพาไดจินและสะไดจินกลับไปเป็นศิลาผนึกได้สำเร็จ

19. เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ปรากฎในเรื่อง และสัญญะที่สื่อถึงโลกจริงได้อย่างแยบยล

ในฉากต่าง ๆ เหล่านี้เชื่อว่าตอนดูทุกคนคงต้องเอ๊ะกันบ้างแหละ ว่าเหตุใดจึงใส่ฉากเหล่านี้เข้ามา

– ฉากการเดินทางของซุซุเมะตลอดทริป ที่ได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมทางจนมีข้าวของติดตัวเต็มไปหมด สื่อถึงการช่วยเหลือกันในกลุ่มผู้ประสบภัย ทำให้จากคนที่ไม่มีอะไรเลยเพราะภัยพิบัติ ก็เริ่มกลับมาตั้งตัวได้ด้วยน้ำใจคนรอบข้าง

– ฉากส้มทั้งลังหล่นกลิ้งบนทางลาดที่เอฮิเมะ สื่อถึงเหตุการณ์ดินสไลด์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และการใช้ตาข่ายเขียวไปกั้นก็สื่ออถึงตาข่ายกั้นดินนั่นเอง

20. ในตัวหนังอาจไม่กล่าวถึงเท่าไร แต่โมเมนต์ที่เจอกันครั้งแรกของเซริซาวะกับโซตะ เป็นแบบนี้

ทั้งคู่เจอกันครั้งแรกหลังจากเข้ามหาลัยมา 2 ปี และเซริซาวะเป็นฝ่ายตะโกนทักโซตะก่อนเรื่องทรงผมที่ยาวถึงบ่า ว่าหากยังไว้ผมทรงนี้จะสอบครูไม่ได้เอา แต่โซตะก็ตอบกลับอย่างเป็นมิตร แถมยังชวนให้มาผลัดกันตัดผมของกันและกัน เพราะเซริซาวะเองก็ยาวไม่น้อยในตอนนั้น อีกทั้งในช่วงที่โซตะหายไปทำ “ธุระของทางบ้าน” ก็นายคนนี้นี่แหละที่คอยเก็บไฟล์สแกนชีทเนื้อหาบทเรียนมาทบทวนให้ (จากนิยาย Suzume no Tojimari – Serizawa no Monogatari)

21. ไม่ใช่แค่แผ่นดินไหว ในโลกของซุซุเมะ ก็มีอีกภัยพิบัติที่คล้ายกับ COVID-19 เกิดขึ้นเหมือนกัน

ถ้าเนื้อเรื่องหลักของซุซุเมะเป็นการต่อสู้กับภัยพิบัติแผ่นดินไหว นิยายฉบับเซริซาวะก็เป็นการเอาชีวิตรอดจากโควิด โดยเนื้อหาจะเปิดเผยถึงการระบาดของไวรัสดังกล่าวผ่านการบอกเล่าของเซริซาวะ ที่เล่าว่าทันทีที่ตนย้ายเข้ามาเรียนมหาลัยในโตเกียว ก็มีไวรัสประหลาดที่ก่อให้เกิดอาการป่วยคล้ายไข้หวัดระบาดขึ้น ทำให้โรงเรียนทุกระดับชั้นปิดการเรียนการสอน ร้านรวงร้านค้าทั่วเมืองต้องปิดตัว ชีวิตมหาลัยจึงเริ่มต้นขึ้นแบบไม่มีปฐมนิเทศ การเรียนการสอนทั้งหมดเป็นไปในรูปแบบออนไลน์ งานพิเศษของเจ้าตัวก็ต้องมาทำหน้าที่คนฉีดสเปรย์ฆ่าเชื้อให้กับข้าวของต่าง ๆ ในร้าน เท่านั้นยังไม่พอ ในตอนที่เซริซาวะโทรไปโกหกกับที่ทำงานว่าเหมือนจะป่วยเลยขอลาหยุด รุ่นพี่โออิชิที่บาร์ก็ถามกลับมาว่าได้ตรวจ PCR-Test หรือยัง และย้ำว่าห้ามปกปิดเรื่องป่วยกับที่ทำงาน และสั่งห้ามไม่ให้เซริซาวะมาทำงาน 2 สัปดาห์เต็ม ๆ ด้วยความว่าง เจ้าตัวเลยปัดทินเดอร์เล่นแล้วไปเจอสาว และสุดท้ายก็ไปติดไข้หวัดที่ว่าเข้าจริง ๆ จนรักษาหาย พอกลับมาทำงานก็พบว่าบาร์ที่เคยรับตนเข้าทำงานนั้นปิดกิจการไปแล้ว และบ้านเรือนที่ไม่มีใครอยู่ก็เพิ่มจำนวนขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว (จากนิยาย Suzume no Tojimari – Serizawa no Monogatari)

22. สองหมื่นเยนอาจน้อยไป มาดูกันว่าภาระค่าใช้จ่ายที่เซริซาวะแบกไว้แต่ละเดือนมีอะไรบ้าง

เริ่มจากการรับผิดชอบรถสปอร์ตสุดหรู กับค่าเช่าที่จอดรถกลางแจ้งที่ฝนและขี้นกตกใส่ได้เสมอ ณ กลางเมือง เดือนละ 24,000 เยน ค่าประกันอุบัติเหตุรถยนต์และค่าน้ำมันอ็อคเทนสูงสำหรับรถยนต์ เดือนละ 50,000 เยน มาที่ค่าใช้จ่ายอย่างอื่น เช่นค่าโทรศัพท์รายเดือน 3,400 เยน ค่าน้ำค่าไฟเดือนละ 6,000 เยน ค่าเช่าอพาร์ตเมนต์อายุ 40 ปี เดือนละ 56,000 เยน ไม่รวมค่าอาหาร ค่าหนังสือเรียน ค่าเสื้อผ้าแฟชั่นเสริมลุคที่ต้องเปลี่ยนทุกเดือน แน่นอนว่าด้วยจำนวนเงินเท่านี้ งานพาร์ทไทม์ 2 งานไม่พอแน่นอน จนเจ้าตัวเองยังนึกอยากขายรถสปอร์ตคันนี้ทิ้งไปเพราะแบกค่าใช้จ่ายไม่ไหว จนต้องเนียนไปขอข้าวที่ห้องโซตะกินในบางโอกาส (จากนิยาย Suzume no Tojimari – Serizawa no Monogatari)

23. งานพาร์ทไทม์ 2 งานของเซริซาวะคืออะไร?

เจ้าตัวเริ่มต้นการใช้ชีวิตในโตเกียวด้วยงานพาร์ทไทม์ที่ร้านสะดวกซื้อ ในตำแหน่งคนพ่นแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อให้กับทุกสิ่งในร้าน แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ผู้คนจับจ่ายน้อยลง ลูกค้าน้อยลง เจ้าตัวจึงเปลี่ยนไปทำงานที่บาร์โฮสต์ตามคำชวนของรุ่นพี่ และแอบมีซื้อคริปโตไว้เก็งกำไรด้วย (จากนิยาย Suzume no Tojimari – Serizawa no Monogatari)

24. รถหรูสีแดงสุดรักของเซริซาวะนั้น มาจากไหนกันนะ?

ต้องเล่าย้อนไปถึงการใช้ชีวิตสุดมือเติบของเจ้าตัวก่อน ที่ทำให้เงินจากงานพิเศษที่ร้านสะดวกซื้อไม่เพียงพอ รุ่นพี่ชื่อโออิชิจึงได้แนะนำงานพิเศษใหม่ให้ เป็นโฮสต์บาร์ที่คาบุกิโจ จึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนลุค ย้อมผมทอง ใส่ต่างหู เปลี่ยนแว่นตาให้ดูมีสไตล์ขึ้น และในตอนที่ได้รถมานั้น คนที่ขายให้คือรุ่นพี่โออิชินั่นแหละ ที่เดือดร้อนทางการเงินด้วยการระบาดของโรคคล้ายโควิด จึงปล่อยเจ้ารถสปอร์ตเกียร์แมนวลอายุ 11 ปีให้เซริซาวะในราคา 300,000 เยน ทั้งนี้ก่อนส่งมอบยังต้องนำรถไปตรวจสภาพ ค่าธรรมเนียม 200,000 เยน เซริซาวะก็ยืมจากรุ่นพี่โออิชิคนนี้มาจ่ายอีกเช่นกัน (จากนิยาย Suzume no Tojimari – Serizawa no Monogatari)

25. เจ้ารถสปอร์ตสีแดงในเรื่อง ผกก. เลือกใช้รถยี่ห้อไหนมาเป็นต้นแบบกันล่ะ?

ก่อนอื่นต้องบอกกันตรง ๆ เลยว่ารถที่เซริซาวะขับนั้น “ไม่มีอยู่จริง” แต่เกิดจากการนำเอาดีไซน์ของรถยนต์ 2 คันมาผสมกัน ก็คือ

1. อัลฟ่าโรเมโอ – จูเลีย ในส่วนของกระจังหน้า

2. อัลฟ่าโรเมโอ – สไปเดอร์ ในส่วนท้ายรถ

แต่ในฉบับนิยายของทาง Kadokawa Tsubasa ได้บรรยายไว้ว่าเป็นรถยี่ห้อ บีเอ็มดับเบิลยู – ซีรีส์-4 กาบริโอเลต์ สีแดง ส่วนในฉบับภาษาไทยนั้นใช้ฉบับของ Kadokawa มาแปล จึงเป็นยี่ห้ออัลฟาโรเมโอสีแดง

26. และเพราะเป็นรถในจินตนาการ เมื่อรถเกิดตกข้างทางจึงเกิดฉากอันเหลือเชื่อขึ้น

สำหรับสายแต่งภายในรถอาจสังเกตเห็น ว่าพวงมาลัยของรถสปอร์ตที่เซริซาวะขับนั้นใช้พวงมาลัยยี่ห้อ Moto Lita ซึ่งไม่มีที่เก็บถุงลมนิรภัย เพราะฉะนั้นฉากที่รถตกข้างทางแล้วถุงลมนิรภัยทำงาน จึงแฟนตาซีไปนิดนึง

27. เรื่องราวเล็กน้อยของคุณน้าทามากิที่ไม่ปรากฎในฉบับภาพยนตร์

นอกจากที่ทราบกันว่าเป็นคุณน้าที่เป็นคนรับซุซุเมะมาเลี้ยงเหมือนลูก ทำงานประจำอยู่สหภาพประมง ที่สถานการณ์บีบให้ต้องออกตามหาหลานที่หนีออกจากบ้านไป ยังมีรายละเอียดอยู่ไม่น้อยที่ไม่ปรากฎในหนัง เช่นในช่วงแรกที่เธอรับซุซุเมะมาเลี้ยง เธอต้องกลายเป็นเป็นสาววัย 28 ที่ต้องทิ้งชีวิตเดิมที่กำลังรุ่งเรืองทั้งการงานและความรักกับหนุ่มหล่อโปรไฟล์ดี มาทุ่มเทแบบถวายชีวิตให้กับหลานสาววัย 4 ขวบ ซึ่งการมาของซุซุเมะก็ทำให้เธอได้รู้จักการใช้ชีวิตอย่างมีสิ่งสำคัญให้ปกป้องดูแลสอนสั่ง

รวมถึงเก้าอี้สามขาที่กลายมาเป็นสิ่งเชื่อมโยงระหว่างน้าหลาน ในฐานะสิ่งของที่คอยฟังการบ่นระบายความในใจแสนปวดร้าวของทั้งสองคน และสิ่งที่อยู่เป็นเพื่อนซุซุเมะมาตั้งแต่เด็กจนโตแม้คุณน้าจะซื้อตุ๊กตานั่นนี่มาให้เป็นของขวัญก็ตามที

และสุดท้ายกับเรื่องราวการเดินทางจากมิยาซากิมาโตเกียวจากฝั่งของคุณน้าทามากิ ที่หมดเบียร์ไป 9 กระป๋อง ข้าวกล่องคาคุนิหมูดำ สุกี้ยากี้วากิว และสเต็กวากิว ก่อนจะมาเจอหน้าหลานที่โตเกียวอย่างที่เห็นในภาพยนตร์

ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดมาจากนิยาย “Suzume no Tojimari – Kowai Yume wo, Anata ga Mou Mimasen you ni – Tamaki-san no Monogatari” (การผนึกประตูของซุซุเมะ – จะไม่ให้เธอต้องเจอฝันร้ายอีกแล้ว – เรื่องเล่าของคุณทามากิ) แจกหน้าโรงในญี่ปุ่น

28. เพลง Tamaki เป็นเพลงที่คุณ Noda จาก Radwimps แต่งมาให้เอง

หรือกล่าวคือเป็นเพลงที่ไม่ได้อยู่ในบรีฟว่าต้องแต่งมาแต่แรก แต่คุณ Noda อยากนำเสนอความรู้สึกของตัวละครทามากิออกมาเป็นเพลง พอแต่งออกมาให้ ผกก. ชินไคฟัง (ประกอบกับความประทับใจในการให้เสียงตัวละครทามากิของคุณ Fukatsu Eri) เพลงนี้ถูกนำไปเขียนขึ้นเป็นนิยายภาคแยกออกมาอีกที ด้วยเหตุนี้ในนิยายภาคแยกเล่มนี้ถึงมีประโยคต่าง ๆ จากเนื้อเพลงเข้าไปอยู่ด้วย

29. เพลงยุคโชวะที่เราคุ้นเคยนั้น เหตุใดจึงถูกเลือกให้มาอยู่ในเรื่องกันนะ?

หากไม่นับเพลงประกอบหลักของเรื่องแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพลงที่ปรากฎในฉากร้านคาราโอเกะ หรือบนรถเปิดประทุน (มือสอง) สุดเท่ของเซริซาวะนั้น ผกก. ให้เหตุผลไว้ว่า ที่ใส่เพลงยุคโชวะเข้ามาในเรื่องนั้น เพราะต้องการให้ผู้ชมรู้สึกได้ว่าตนเองก็มีความเชื่อมโยงกับโลกของภายในเรื่อง เพราะแต่ละเพลงล้วนเป็นเพลงที่คนญี่ปุ่นเองก็คุ้นชินกันอยู่แล้ว แถมบางเพลงยังแอบบรรยายแนวทางการดำเนินเรื่องอีกด้วย จึงขอตีความเอาเองดังนี้

เพลงในฉากคาราโอเกะร้านสแน็คบาร์คุณรุมิ

– Gizagiza Heart no Komoriuta (เพลงกล่อมเด็กของใจที่หยาบกร้าน) ของวง The Checkers (1984)

ตัวเพลงบอกเล่าเรื่องราวของเด็กวัยรุ่นเกเรที่สังคมมองว่าไม่ดี แต่เป็นเพียงด้านเดียวที่ถูกมองเห็น เพราะสำหรับวัยรุ่นคนหนึ่งแล้วมันเป็นความทรงจำที่สำคัญในมุมที่เจ้าตัวอ่อนโยน เทียบกับการที่สุซุเมะบังเอิญหนีออกจากบ้าน ถูกคุณน้าทามากิมองว่าก่อปัญหา แต่ไม่รู้ว่าสิ่งที่หลานกำลังเจออยู่คืออะไร

– Ito (ด้าย) ของ Nakajima Miyuki (1992)

เพลงนี้ออกมาในฉากที่ซุซุเมะกำลังหัวหมุนอยู่กับการทำงานในร้านสแน็คบาร์แลกกับที่ซุกหัวนอนและการช่วยเหลือต่าง ๆ จากคุณรุมิระหว่างการเดินทางตามหาไดจิน ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลกที่คนหลายคนที่อยู่ห่างไกลกันคนละจังหวัด ไลฟ์สไตล์คนละอย่าง ถูกชักนำ ถูกพาให้มาพบกันเหมือนมีเส้นด้ายคล้องกันเอาไว้ ดังปรากฎในเนื้อเพลง

– Otoko to Onna no LoveGame (เกมรักของชายหญิง) เพลงคู่ของ Takeda Tetsuya กับ Ashikawa Yoshimi (1986)

เนื่องจากในฉากที่เพลงนี้ออกมาเป็นฉากสแน็คบาร์ และเนื้อเพลงเองก็กล่าวถึงบทหยอกเอินของสาวบาร์และลูกค้าชายแสนเจ้าชู้หนีเมียมาเที่ยว ภาพจำเจของชีวิตใต้แสงสียามค่ำคืน

แต่! ถ้าเราไปดูในฉบับนิยาย เพลงประกอบที่ปรากฎในฉากนี้ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน นั่นคือ…

– 240000000 no Hitomi – Exotic Japan – (สายตาสองร้อยสี่สิบล้านดวง) ของ Gou Hiromi (1984)

ก่อนจะอธิบายว่าเกี่ยวอะไรกับตัวเรื่อง ขออธิบายเหตุผลว่าทำไมตัวเลขในชื่อเพลงต้องเยอะขนาดนั้นก่อน เพราะผู้แต่งเพลงใช้แทนดวงตาของคน 120 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนรวมประชากรญี่ปุ่นทั้งหมดในยุคนั้น ที่มองไปยังอะไร? มองไปยัง “ชินคังเซ็น 0 ซีรีส์” ที่เป็นหน้าเป็นตาของประเทศญี่ปุ่น และเป็นการบอกใบ้ว่าพวกซุซุเมะจะใช้ชินคังเซ็นเดินทางจากเฮียวโงะไปโตเกียว

(รวมถึงจากการตั้งชื่อล้อเพลง “24 no Hitomi” ของคุณ Tsuboi Sakae ที่กำลังดังในช่วงนั้นด้วย)

– Ora Tokyou sa Iguda (ตูข้าจะไปโตเกียว) ของ Yoshi Ikuzo (1984)

อีกเพลงที่สื่อถึงการเดินทางจากบ้านนอกเข้าเมืองหลวง สื่อถึงการเดินทางของซุซุเมะจากมิยาซากิมาจนถึงโตเกียว

เพลงในฉากสถานีรถไฟชินโกเบ

– Ginga Tetsudou 999 (กาแล็กซี่เอ็กซ์เพรส 999) ของ Godiego (1979)

เหมือนเป็นเพลงที่ขาดไม่ได้เมื่อนึกถึงรถไฟ และการเดินทางไปยังดินแดนที่ไม่รู้จัก เพื่อพบกับสิ่งใหม่ที่รอคอยอยู่เบื้องหน้า เปรียบถึงการเดินทางด้วยรถไฟของพวกซุซุเมะเช่นกัน

มาถึงคิวของลิสต์เพลงบนรถเซริซาวะตั้งแต่เดินทางออกจากโตเกียวมุ่งหน้าไปยังอิวาเตะ บ้านเกิดของซุซุเมะ

– Rouge no Dengon (ข้อความของลิปสติก) ของ Arai Yumi (1975)

เนื้อเพลงกล่าวถึงเรื่องราวของหญิงที่พบว่าสามีของเธอนอกใจ จึงตัดสินใจเดินทางไปยังบ้านของแม่สามี เพื่อบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมด และให้แม่ของสามีโทรมาด่าเจ้าลูกชายเมื่อถึงวันรุ่งขึ้น ทีนี้มันเหมือนกับเรื่องราวของซุซุเมะยังไง เพราะมันเหมือนกันตรงที่เธอถูกโซตะทิ้งไว้คนเดียว จึงต้องออกเดินทางเพื่อตามไปเอาเรื่อง… เอ๊ย เพื่อพาโซตะกลับมายังไงล่ะ

– Sweet Memories (ความทรงจำแสนหวาน) ของ Matsuda Seiko (1983)

ทันทีที่เสียงบ่นหนวกหูของไดจินดังขึ้นเพื่อห้ามปรามความวุ่นวายของน้าหลานและหนุ่มเทสต์ดี รถก็ออกตัวไปยังเป้าหมายที่ตั้งไว้และเพลงนี้ก็ดังขึ้น ราวกับจะบอกว่าสิ่งที่จะเกิดต่อไปนี้จะกลายเป็นหนึ่งในความทรงจำที่ชวนให้ระลึกถึงเสมอ

– Yume no Naka e (สู่ในความฝัน) ของ Inoue Akimi (1973)

กำลังตามหาอะไรอยู่เหรอ? กำลังตามหาอะไรอยู่เหรอ? ก็ตามหาโซตะน่ะสิ!

– Sotsugyou (จบการศึกษา) ของ Saitou Yuuki (1985)

ถูกนายเซริซาวะปัดทิ้ง

– Valentine Kiss (จูบวันวาเลนไทน์) ของ Kokujou Sayuri และ Onyanko Club (1986)

ถูกนายเซริซาวะปัดทิ้งอีกรอบ

– Kenka wo Yamete (หยุดทะเลาะกันเถิด) ของ Kawai Naoko (1982)

เพลงที่โผล่มาเป็นมุกให้เซริซาวะได้ใช้บอกทั้งน้าทั้งหลานให้เลิกทะเลาะกัน ก่อนจะถูกทามากิตอบกลับทำนองว่าอย่ามายุ่ง

30. ซาวนด์แทร็คที่คุ้นเคยจากผลงานก่อนหน้าก็กลับมาเช่นกัน

ซึ่งกลับมาด้วยกัน 2 เพลงคือ “Itomori Koukou” จากเรื่อง Kimi no Na wa.

กับ “K&A Hatsu Houmon” จากเรื่อง Tenki no Ko ก็กลับมาอยู่ในฉากที่พวกซุซุเมะเห็นข่าวการปรากฎตัวของไดจินเช่นกัน

30+1. ข้อสังเกตเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่รู้จะไปใส่ข้อไหน

เพราะมันมีมโนส่วนตัวของผู้เขียนปนมาด้วย โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน

– กล่องใส่ของสะสม “ของสำคัญของซุซุเมะ” มี 2 กล่อง คือที่ถูกฝังไว้ที่อิวาเตะ กับที่อยู่ในบ้านที่มิยาซากิ

– สถานที่แต่ละแห่งที่ซุซุเมะต้องไปปิดประตู มีความเกี่ยวโยงกับบุคคลที่ช่วยเหลือเธอระหว่างทาง อย่างเช่นที่โรงเรียนที่เอฮิเมะ จิกะจังที่ช่วยเหลือซุซุเมะไว้ก็เป็นนักเรียน หรือสวนสนุกที่โกเบแทนภาพสถานที่ของครอบครัว และคนที่ช่วยซุซุเมะไว้ก็เป็นครอบครัวซิงเกิลมัม ประตูที่ศาลเจ้าใต้ดินในโตเกียง ก็เชื่อมโยงกับผู้คนทั้งเมือง และสุดท้ายประตูที่บ้านเก่าซุซุเมะ ก็โยงกับแม่ที่จากไปในอดีตและตัวซุซุเมะเอง

– ผีเสื้อที่ปรากฎอยู่ในหลายฉากและมักมาเป็นคู่ ตั้งแต่ฉากแรกที่ซุซุเมะตื่น ไปจนถึงฉากสุดท้ายในแดนสุขาวดีที่ยังมีผีเสื้อมงกิสองตัวปรากฎออกมา ตัวผีเสื้ออาจสื่อถึงผู้ล่วงลับที่ยังคอยตามปกป้องลูกหลานที่พวกเขารักอยู่ ซึ่งนั่นแปลว่าผีเสื้ออาจแทนตัวพ่อแม่ของซุซุเมะเองก็ได้?

– ฉากก่อนที่รุมิจะมาเจอกับพวกซุซุเมะ มีให้เห็นภาพผีเสื้ออาเกฮะ กับดอกฮิกันบานะ ก็อาจสื่อถึงสามีของรุมิที่จากไปแล้วได้เหมือนกัน?

– เทียบกับซีนในจังหวัดเอฮิเมะที่ซุซุเมะได้เจอกับจิกะ ทั้งพาร์ทนี้จะไม่มีผีเสื้อโผล่มาเลย เพราะพ่อแม่ของจิกะยังมีชีวิตอยู่

– ห่อสีม่วงในห้องรักษาตัวของคุณปู่ฮิทสึจิโร่ อาจเป็นเถ้ากระดูกของใครสักคนผู้เป็นที่รัก อาจเป็นคุณย่า?

– ปีเกิดของเซริซาวะคือ 2001 จากที่เขียนไว้บนบัตรที่ยื่นให้คุณทามากิดู

– พนักงานลอว์สันชื่อคุณคินุโยะ กับชาวต่างชาติชื่อแครอล

ฯลฯ

ทางผู้จัดทำบทความเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลข้างต้นนี้เป็นแค่เพียงส่วนน้อย ของรายละเอียดที่เก็บได้จากการชมภาพยนตร์ Suzume no Tojimari – การผนึกประตูของซุซุเมะ ที่ตอนนี้กำลังฉายอยู่ในโรงภาพยนตร์ เพื่อน ๆ คนไหนไปดูแล้วเจออะไรชวน “เอ๊ะ” มากกว่านี้ กลับมาบอกกันบ้างนะ และขอให้สนุกกับการชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ไม่ว่าจะรอบแรก หรือรอบสอง หรืออีกหลาย ๆ รอบก็ได้! ไว้พบกันใหม่บทความหน้า สวัสดี!